อสังหาฯขานรับมาตรการ 5 ข้อ กระตุ้นบ้านและคอนโดฯของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ลดค่าโอน-จำนอง 3% เหลือ 0.01% จากล้านละ 30,000 บาท เหลือล้านละ 300 บาท ขยายเพดานจากราคาไม่เกิน 3 ล้าน เพิ่มเป็น 7 ล้าน ถึง 31 ธ.ค. 67 “บ้านสร้างเอง” ลดหย่อนภาษี 1 แสน ให้เวลาถึง 31 ธ.ค. 68

     “ธอส.จัดซอฟต์โลน” 30,000 ล้าน ดอกเบี้ย 2.98-3% ปล่อยกู้ราคา ไม่เกิน 2.5-3 ล้านบาท “ขยาย เพดานบ้าน BOI” จาก 1.2 ล้าน เพิ่มเป็น 1.5 ล้าน จูงใจผู้ประกอบการสร้างบ้านขายผู้มีรายได้น้อย

     ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯประสานเสียง นายกรับสร้างบ้าน ชี้ปลุกความเชื่อมั่น-กระตุ้นความคึกคักตลาดทั่วประเทศมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท

     นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) เพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน รายละเอียดมีดังนี้

โอน-จำนองเหลือ 0.01% 1 ปี

1.มาตรการลดค่าโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัย ปี 2567 ครม.เห็นชอบให้ลดค่าโอนจาก 2% เหลือ 0.01% หรือจากล้านละ 20,000 บาท เหลือล้านละ 200 บาท และลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% หรือล้านละ 10,000 บาท เหลือล้านละ 100 บาท ซึ่งค่าโอนและจดจำนองรวมกัน 3% ลดเหลือ 0.01% หรือเท่ากับค่าใช้จ่ายเดิมล้านละ 30,000 บาท ลดเหลือล้านละ 300 บาท

เฉพาะที่จดทะเบียนโอนในคราวเดียวกัน สำหรับการซื้อขายบ้านเดี่ยว บ้านแถว (ทาวน์เฮาส์) อาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว คอนโดมิเนียมที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา

 มีเงื่อนไขสำหรับผู้ซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย โดยให้มีผลใช้ บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

ลดหย่อนบ้านสร้างเอง 1 แสน

2.มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน กำหนดให้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ, คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) หักลดหย่อนค่าจ้างก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้รับจ้าง (ธุรกิจรับสร้างบ้าน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการจ่ายค่าจ้างตามสัญญาจ้างตั้งแต่วันนี้ (9 เมษายน 2567) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 1 หมื่นบาท ต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันเล้วไม่เกิน 1 แสนบาท เฉพาะค่าจ้างก่อสร้างบ้านไม่เกิน 1 หลัง ในปีภาษีที่ก่อสร้างบ้านเสร็จตามสัญญาจ้างที่ก่อสร้างตั้งแต่วันนี้ (9 เมษายน 2567) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และได้เสียอากรแสตมป์โดยวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ซอฟต์โลน ธอส. 3 หมื่นล้าน

3.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยกู้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร และเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก

 ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 3 ล้านบาท เวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี

โดยประชาชนที่สนใจสินเชื่อบ้าน Happy Home สามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบ วงเงินของโครงการ

4.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคาร หรือซื้อที่ดิน พร้อมปลูกสร้างอาคาร เพื่อต่อเติม ขยาย ซ่อมแซมอาคาร หรือไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.98% ต่อปี วงเงินรายละ 2,500,000 บาทขึ้นไป

 โดยประชาชนที่สนใจเข้าร่วโครงการสามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่า ธอส. ให้ สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ

ขยับเพดานบ้าน BOI 1.5 ล้าน

5.การให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โครงการบ้าน BOI) ทางคณะกรรมการส่งสริมการลงทุน (BOI-Board of Investment) ได้ออกประกาศที่ ส. 1/2567 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2567 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ได้รับการยกว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน

ไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เช่น

    5.1 กรณีอาคารชุด BOI ต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร กรณีบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถว ต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร

    5.2 การก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ขอรับการส่งเสริม ต้องจำหน่ายให้บุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยก่อสร้างที่อยู่อาศัย (รวมค่าที่ดิน) ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

    5.3 ต้องมีที่อยู่อาศัยตามเงื่อนไขที่กำหนดไม่น้อยกว่า 80% ของที่อยู่อาศัยทั้งโครงการ

    5.4 มีแผนผังและแบบแปลนที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และได้รับการอนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    5.5 ต้องยื่นขอรับการส่งเสริม (ขอรับบัตร BOI) ภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2568 เป็นต้น

    ศึกษาเกณฑ์ถือครองต่างชาติ

    โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการดังกล่าวข้างต้นจะช่วย ส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม

    อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ซึ่งมีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ Thailand Vision ในการยกระดับประเทศไทยสู่การ เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ที่มีเป้าหมายในการดึงดูด นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ให้มาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงการปรับกระบวนการทางกฎหมายที่มีอุปสรรคในการถือครองทรัพย์สิน

    ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ไปดำเนินการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ ในการดำเนินการ ซึ่งจะได้นำเสนอ กลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง7 ล้านมีมูลค่าตลาด 9 แสนล้าน

    ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่ขยายสิทธิประโยชน์ให้กลุ่มที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท นับว่าเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์การกระตุ้นอย่างเด่นชัด เนื่องจากเป็นการดึงกำลังซื้อกลุ่มที่มีศักยภาพสูง

    ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัย 27 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า ณ สิ้นปี 2566 มีที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท เหลือขายในตลาด 268,000 หน่วย คิดเป็น สัดส่วน 87% ของหน่วยเหลือขายทั้งหมด มีมูลค่า 911,000 ล้านบาท ดังนั้น มาตรการรอบนี้คาดว่าสามารถดึงดูดกำลังซื้อใหม่ ๆ ราคา 3-7 ล้านบาทได้มากขึ้น ช่วยชดเชยกำลังซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่ได้รับการกระตุ้นต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่มีปัญหากู้ไม่ผ่านสูงมากในปัจจุบัน

    นอกจากนี้ การที่รัฐบาลออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท นับว่าตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ส่วนใหญ่จะซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้สามารถมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยและเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

    “มาตรการกระตุ้นอสังหาฯรอบนี้ กระตุ้นฝั่งดีมานด์ในวงกว้าง น่าจะ สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาพรวม เศรษฐกิจประเทศด้วย” ดร.วิชัยกล่าว

     ส.คอนโดฯชี้ดันตลาดโต 15%

     นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า มาตรการกระตุ้นเดิมลดค่าโอนให้บ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 40% ของตลาดรวม และติดปัญหาถูกปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูง การขยับเพดานกระตุ้นไปถึงราคา 7 ล้านบาท มองว่ารัฐบาลเดินมาถูกทาง เพราะมีสัดส่วนถึง 80% ของตลาดรวม

     ผลกระทบเชิงบวกต่อตลาดในช่วง 9 เดือนที่เหลือ จะเป็นตัวช่วยสำคัญทำให้ตลาดรวมปีนี้เติบโตได้ถึง 10-15% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าตลาดปีนี้จะเติบโตต่ำอยู่ที่ 5-10% เท่านั้น

     ปลุกรับสร้างบ้าน 2 แสนล้าน

     นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีใจมากที่รัฐบาลเศรษฐาให้ความสำคัญกับตลาดบ้านสร้างเองที่มีมูลค่าตลาดรวมปีละ 2 แสนล้านบาท โดยลูกค้าที่สร้างบ้านบนที่ดินตัวเอง จากเดิมที่ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการรัฐมาก่อน แต่รอบนี้สามารถนำมูลค่าสร้างบ้านมาขอลดหย่อนภาษีสูงสุด 1 แสนบาท เท่ากับลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของมาตรการรัฐครั้งสำคัญ

    “มาตรการบ้านสร้างเองให้เวลาลดหย่อนภาษี 1 แสนบาทนาน 2 ปี เป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภคที่จะสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น สิ่งที่สมาคมรับสร้างบ้านต้องไปดำเนินการต่อคือการทำความเข้าใจให้กับลูกค้า เพราะสิทธิลดหย่อนภาษีมีเงื่อนไข จะต้องทำสัญญาสร้างบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้านที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการจดทะเบียนเข้าระบบภาษีอย่างถูกต้องเท่านั้น ขณะเดียวกันจะมีการหารือเพื่อจัดกิจกรรมการตลาดร่วมกับสมาชิกสมาคม เพื่อกระตุ้นออร์เดอร์รับสร้างบ้านในปี 2567-2568 ต่อไป” นายโอฬารกล่าว

ขอบคุณที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

Leave a Reply

Your email address will not be published.