สุขาภิบาลบ้านมือสอง ระบบสุขาภิบาลคือระบบที่รวมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ทั้งน้ำใช้ และน้ำทิ้ง ระบบสุขาภิบาลมักจะเป็นระบบที่สร้างปัญหากวนใจให้กับเจ้าของบ้านทุกหลัง ดังนั้นมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรจะต้องพิจารณาไปดูกันครับ

ระบบน้ำประปา
การตรวจสอบมิเตอร์ ให้ทำการปิดก๊อกน้ำทุกจุดในบ้าน แล้วตรวจสอบดูว่ามิเตอร์น้ำยังหมุนทั้งๆ ที่ไม่มีการใช้น้ำใดๆ ในบ้านหรือไม่ หากมิเตอร์น้ำยังหมุนอยู่แสดงว่าท่อน้ำประปาในบ้านต้องเกิดการรั่วขึ้น การจะตรวจสอบว่ารั่วที่จุดใดคงเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะท่อประปาส่วนใหญ่มักจะเดินซ่อน หรือฝังอยู่ในผนัง ดังนั้นหากพบปัญหาเรื่องการรั่วของท่อประปาจึงถือว่าเป็นข้อเสียที่ต้องชั่งใจพอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับการพิจารณาตรวจสอบความจุของถังเก็บน้ำก็พิจารณาได้ดังนี้ จำนวน 5-6 คน ควรใช้ถังเก็บน้ำที่มีความจุประมาณ 1,200 ลิตร จำนวน 7-8 คน ควรใช้ถังเก็บน้ำที่มีความจุประมาณ 1,600 ลิตร จำนวน 9-10 คน ควรใช้ถังเก็บน้ำที่มีความจุประมาณ 2,000 ลิตร หากถังน้ำในบ้านมือสองมีขนาดที่ไม่เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกที่จะเข้าไปอยู่ก็คงต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ด้วยเช่นกัน

การตรวจสอบระบบน้ำในห้องน้ำ ให้ทำการเปิดก๊อกน้ำรวมทั้งฝักบัวทุกอันจนสุด เพื่อตรวจสอบดูว่าน้ำไหลได้ดีหรือไม่ หรือมีก๊อกใดไหลอ่อนกว่าปกติ หากมีก๊อกใดไหลอ่อนกว่าปกติอาจเป็นไปได้ว่าท่อประปามีขนาดไม่เหมาะสมกับจำนวนก๊อกน้ำในห้องน้ำ หรือเครื่องปั๊มน้ำมีแรงดันไม่เพียงพอ

ในขณะที่เราทดสอบเปิด-ปิดก๊อกน้ำทั้งหมดในห้องน้ำ ให้เราตรวจสอบปั๊มน้ำพร้อมๆ กับก๊อกน้ำโดยเมื่อปิดก๊อกน้ำทั้งหมดเครื่องปั๊มน้ำก็ไม่ควรทำงาน หากเครื่องยังคงทำงานก็แสดงว่าอาจเกิดการรั่วซึมขึ้นในระบบประปานั่นเอง หลักจากนั้นจึงทดลองหมุนเปิด-ปิดก๊อกน้ำให้สุดทีละจุด จุดละ 2-3 ครั้ง ว่ามีปัญหาติดขัดหรือไม่ และสังเกตดูว่าเมื่อปิดก๊อกน้ำจนสุด น้ำหยุดไหลสนิทหรือไม่ และสำหรับก๊อกน้ำจุดอื่นภายในบ้านก็ให้ใช้วิธีนี้ตรวจสอบกับก๊อกน้ำทุกจุดด้วยเช่นกัน

ระบบน้ำทิ้ง
ระบบน้ำทิ้งจะมีอยู่หลายจุดภายในบ้าน เช่น รูระบายน้ำทิ้งในห้องน้ำ อ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า อ่างล้างชาม รวมไปถึงจุดระบายน้ำบริเวณระเบียง สำหรับรูระบายน้ำทิ้งในให้น้ำ รวมไปถึงบริเวณระเบียงหรือลานซักล้าง ให้ทดลองเปิดก๊อกน้ำบริเวณนั้นเพื่อทดสอบการไหลของน้ำที่รูระบายน้ำทิ้ง ว่าไหลได้อย่างสะดวกหรือไม่ นอกจากนี้ควรตรวจสอบทิศทางการไหลของน้ำและความลาดเอียงของการระบายน้ำไปพร้อมๆ กันอีกด้วยว่าจะเกิดน้ำขังในบริเวณนั้นหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ให้สังเกตท้องพื้นบริเวณใต้พื้นห้องน้ำ หรือท้องพื้นบริเวณใต้ระเบียงชั้นสอง รวมไปถึงท่อและข้อต่อ ด้วยว่ามีน้ำซึม รั่ว หรือหยดลงมายังพื้นชั้นล่างหรือไม่หลังจากที่เราทดสอบรูระบายน้ำที่พื้นบริเวณชั้นบนแล้ว เพราะการแก้ปัญหาเรื่องการรั่วซึมทำได้ค่อนข้างลำบากและจะเป็นปัญหากวนใจเราไปอีกนานทีเดียว

สำหรับอ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า อ่างล้างชาม ให้ทดสอบด้วยการปิดสะดืออ่าง แล้วปล่อยน้ำให้เต็มจนน้ำนั้นล้นออกทางช่องน้ำล้นของอ่างนานประมาณ 1 นาทีเพื่อตรวจสอบระบบป้องกันน้ำล้นของอ่าง หลังจากนั้นก็ที่ปิดสะดืออ่างออกและตรวจสอบการไหลออกของน้ำว่าสามารถไหลออกได้สะดวกหรือไม่ ถ้าน้ำไหลออกช้าและมีฟองอากาศผุดขึ้นมา แสดงว่าอาจเกิดปัญหาที่ระบบท่ออากาศหรือไม่ได้มีการติดตั้งท่ออากาศเอาไว้ หากน้ำไหลช้าแต่ไม่มีฟองอากาศผุดออกมาอาจสันนิษฐานว่าอาจมีสิ่งแปลกปลอมไปอุดตันในท่อ นอกจากนั้นให้ทำการตรวจสอบท่อ และพื้นบริเวณใต้อ่างว่ามีน้ำหยดหรือไม่

สำหรับชักโครกหรือโถส้วมก่อนทำการทดสอบให้ราดน้ำที่พื้นบริเวณรอบฐานชักโครกหรือโถส้วม จากนั้นให้ทดลองใช้งานว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ โดยเมื่อกดน้ำแล้ว น้ำที่ใช้ชำระไหลได้คล่องหรือไม่ หากมีฟองอากาศผุดขึ้นมาก็แสดงว่าท่ออากาศของส้วมอาจมีปัญหาคล้ายๆ กับสุขภัณฑ์ประเภทอ่างที่กล่าวมาแล้ว สังเกตบริเวณรอบฐานชักโครกหรือโถส้วมว่ามีฟองอากาศผุดออกมาด้วยหรือไม่เพราะถ้ามีอาจเป็นไปได้ว่าการติดตั้งโถส้วมบริเวณฐานนั้นไม่ถูกต้องซึ่งจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นย้อนได้ จากนั้นก็ลองเปิดฝาถังเก็บน้ำออกดูเพื่อตรวจสอบระบบลูกลอยว่าทำงานปกติหรือไม่ โดยเมื่อน้ำเต็มถังลูกลอยจะลอยตัวขึ้นและปิดวาล์วน้ำที่จะเข้าถังได้สนิทหรือไม่ โดยน้ำในถังไม่ควรเกินช่องระบายน้ำล้นของระบบ และไม่มีเสียงน้ำไหลเข้าระบบอีก ถ้ายังมีเสียงก็แสดงว่าเราก็มีสิทธิ์เสียเงินอีกเช่นกันครับ

สำหรับบ่อบำบัด ให้เปิดฝาบ่อบำบัด และตรวจสอบระดับน้ำในบ่อบำบัดโดยให้สังเกตว่าน้ำในบ่อมีระดับสูงเกินไปหรือไม่ หากสูงเกินไปแสดงว่าบ่อบำบัดอาจเกิดรอยแตกและทำให้น้ำใต้ดินไหลเข้ามาในบ่อบำบัด ซึ่งจะส่งผลให้ถังส้วมเต็มเร็วกว่าปกตินั่นเอง

แหล่งที่มา: บรรณาธิการเว็บไซต์บ้านและสวน http://www.baanlaesuan.com/OnlyOnWeb.aspx?articleId=114

Leave a Reply

Your email address will not be published.